Home > News & Tips > News update > เตรียมยกเลิก Duty Free ขาเข้า สนามบิน 8 แห่ง กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

เตรียมยกเลิก Duty Free ขาเข้า สนามบิน 8 แห่ง กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ

กรกฎาคม 19, 2024 | 141 views

ครม. มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแนวนโยบาย “การหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) ขาเข้าของผู้ประกอบการ” คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี

จากการได้สิทธิซื้อสินค้าต่างๆ ภายในร้าน Duty Free ขาเข้า ทำให้โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายในการบริโภคและซื้อสินค้าภายในประเทศลดน้อยลง แนวคิดในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้า Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อนั้น มีเพื่อส่งเสริมการบริโภคสินค้าภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายดังกล่าวมากระจายหมุนเวียนในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมมากยิ่งขึ้น

มาตรการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า ในท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่ง ได้แก่

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 
  • ท่าอากาศยานดอนเมือง 
  • ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 
  • ท่าอากาศยานภูเก็ต 
  • ท่าอากาศยานหาดใหญ่  
  • ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 
  • ท่าอากาศยานสมุย 
  • ท่าอากาศยานกระบี่ 

ผลประโยชน์และผลกระทบของการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า 

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น มีการกระจายการใช้จ่ายและบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง 
  • ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน
  • ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free จะสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการขายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า ใน 1 ปีคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไปเสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาท/ปี เป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป
  • ผลต่อรายได้ของภาครัฐ เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม กรณีที่มีการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี

ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล
รูป: Freepik

Was this article helpful?
YesNo