อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) หรือการประชุมองค์กร (Meetings) การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travels) การประชุมวิชาชีพ (Conventions) และการแสดงสินค้าหรือนิทรรศการนานาชาติ (Exhibitions) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact) ของอุตสาหกรรมไมซ์สร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างสูง เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการจัดงานไมซ์ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนและหลังการจัดกิจกรรมไมซ์ นอกจากนี้ งานนิทรรศการนานาชาติ (Exhibitions) หรืองานอีเว้นท์ (Events) ยังทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อ หรือผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการมีโอกาสได้พบปะและติดต่อเจรจาสร้างผลประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ตระหนักดีว่า บทบาทที่สำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับการเลือกเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมไมซ์นั้น คือ การอำนวยความสะดวก (Facilitation) หรือ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย ซึ่งการอำนวยความสะดวกผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการในอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยได้นั้นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559 คณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาด้านไมซ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
คณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการในอุตสาหกรรมไมซ์ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการอำนวยความสะดวกในการจัดงานไมซ์ รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้งานไมซ์สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยได้ทั้งในวันนี้และอนาคต