Home > News & Tips > Service > วิธีคำนวณราคานำเข้า Incoterm จากราคา FOB เป็น CIF

วิธีคำนวณราคานำเข้า Incoterm จากราคา FOB เป็น CIF

สิงหาคม 1, 2023 | 6928 views

ในธุรกิจโลจิสติกส์ มักจะมีคำศัพท์เฉพาะมากมายที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น Incoterm (International Commercial Terms)  หมายถึง เงื่อนไขในการส่งมอบสินค้าระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทราบถึงขอบเขตความรับผิดชอบ ค่าใช้จ่าย รวมถึงความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายนั้น หรือศัพท์ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น CIF (Cost, Insurance & Freight) และ FOB (Free On Board)

อย่างไรก็ตาม ในการนำเข้าของซึ่งตามกฎหมายศุลกากรระบุไว้ว่า ราคาศุลกากรสำหรับของที่นำเข้านั้นต้องรวมค่าประกันภัย ค่าขนส่ง ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งของมายังท่า/ที่/สนามบินศุลกากรที่นำเข้า

ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้ประกอบการตกลงซื้อขายกันเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไว้ เมื่อจะสำแดงราคาของที่นำเข้าในใบขนสินค้า ก็จำเป็นจะต้องปรับราคานั้นๆ ให้เป็นราคา CIF


อะไรคือความแตกต่างระหว่าง CIF และ FOB

CIF (Cost, Insurance & Freight)

  • ราคา CIF มีเงื่อนไขการส่งมอบคือผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อสินค้าวางบนเรือ ณ ต้นทาง
  • ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบในการทําพิธีการส่งออก 
  • ผู้ขายรับผิดชอบทำสัญญาการขนส่ง จ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยจนถึงท่าเรือปลายทางที่ระบุ

FOB (Free On Board)

  • ราคา FOB มีเงื่อนไขการส่งมอบคือผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบเมื่อสินค้าวางบนเรือที่ท่าเรือต้นทาง 
  • ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการทําพิธีการส่งออก 
  • ผู้ซื้อรับภาระในการทำสัญญาการขนส่ง จ่ายค่าระวางเรือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งค่าประกันภัยสินค้าจากจุดส่งมอบ (ท่าเรือต้นทาง)

วิธีการปรับราคา FOB ให้เป็น CIF 

  • มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมารวมกับราคา FOB
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายจริง หากไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าประกันภัย ให้บวกค่าประกันภัย 1 % ของราคา FOB
  • ไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าขนส่ง ให้ดำเนินการตามวิธีการขนส่ง ดังนี้
  • การนำเข้าทางเรือ และ ทางบก ให้บวกค่าขนส่ง 10% ของราคา FOB
  • การนำเข้าทางอากาศยาน ให้บวกค่าขนส่งเข้ากับราคาของและค่าประกันภัย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่
  • นำเข้าทางไปรษณีย์ ให้บวกค่าขนส่งตามอัตราไปรษณียากรสำหรับพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ใช้อยู่ในขณะนำเข้า

กรณีซื้อขายกันด้วยเงื่อนไขการส่งมอบ เป็น EXW / FAS / FCA

หากไม่มีหลักฐานการชำระเงินที่เกี่ยวกับการขนส่ง การขนของลง การขนของขึ้น ในการขนย้ายของจากสถานที่ส่งมอบไปยังท่าส่งออก ให้บวกด้วย 3% ของราคาดังกล่าว เพื่อแปลงให้เป็นราคา FOB ก่อน แล้วจึงคำนวณตามหลักเกณฑ์การแปลง FOB เป็น CIF ต่อไป

หมายเหตุ กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้นำเสนออธิบดีกรมศุลกากรเพื่อพิจารณา

ที่มา : กรมศุลกากร
รูปโดย : vecstock

Was this article helpful?
YesNo