Home > News & Tips > Knowledge > พร้อมไมซ์ พร้อมแค่ไหน…ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

พร้อมไมซ์ พร้อมแค่ไหน…ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

กันยายน 12, 2022 | 1511 views

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (Targeted S-Curve) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาตลอดจนไทยประสบความสำเร็จในฐานะศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน จากกระแสเทรนด์โลกในปัจจุบันแน่นอนว่าตอนนี้รถยนต์ไฟฟ้า (EV – Electric Vehicle) ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อุตสาหกรรมไมซ์จะช่วยผลักดันตลาดรถยนต์ EV บ้านเราให้เติบโตได้อย่างไร?

อย่างที่ทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยเองเป็น Hub ของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียอยู่ก่อนแล้ว เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโลกที่เลวร้ายลงอย่างมาก ทำให้หลายประเทศหันมาใส่ใจกับวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้เกิดการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะช่วยลดมลพิษในด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ได้เร่งพัฒนาการผลิตรถ EV ชนิด 100 % ไว้รองรับผู้บริโภคในตลาดที่เติบโตเร็วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือแม้กระทั่งจีน

ความพร้อมข้อได้เปรียบต้นทุนดั้งเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

  • ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์น้ำมัน จึงควรคว้าโอกาสในการสนับสนุนส่งเสริมให้ใช้และนำเข้าตามเทรนด์โลก และมองระยะยาวไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า
  • ไทยผลิตรถยนต์น้ำมัน 2 ล้านคัน/ปี (ช่วงหลัง COVID 19) ในจำนวนนี้คือขายภายในประเทศเองและส่งออกอีกครึ่งหนึ่ง
  • เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมนี้กระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจในตลาดรถยนต์ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท/ปี
  • การจ้างงานในระบบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์มีมากกว่า 3 แสนตำแหน่ง
  • ไทยมี  Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ในการผลิตรถยนต์และส่วนประกอบของชิ้นส่วนต่างๆ มายาวนาน ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น โรงงานผลิต ดีลเลอร์ ศูนย์บริการ อู่ซ่อม ฯลฯ ถือว่าเป็นจุดแข็ง เป็นความพร้อมในเรื่องความครบถ้วนและได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 

ความท้าทายและโอกาสของไทยที่จะต้องเรียนรู้เพื่อก้าวสู่การเป็น Hub ของยานยนต์ไฟฟ้า

  • ผู้บริโภคไทยตื่นตัวกับรถยนต์ EV จากปัจจัย 
  • ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง
  • การลดค่าใช้จ่ายในเรื่องพลังงาน หากที่บ้านมีที่ชาร์จเองจะยิ่งลดต้นทุนด้านพลังงานไปมาก 
  • EV มีเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เช่น มีประกันแบตเตอรี่ในระยะยาวขึ้น (8 ปี)
  • มีผู้ผลิตเข้ามาสร้างตลาดมากขึ้น การพัฒนาของค่ายรถที่นำเข้ารถยนต์ EV เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคมีมากขึ้น
  • มีราคาที่หลากหลายขึ้น เป็นราคาที่สามารถจับต้องได้มากขึ้น
  • เทรนด์ กระแสที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก 
  • การดูแลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้นทำให้ให้ตลาดรถเกิดกระแสการตื่นตัว
  • ต้นปี 2565 รัฐบาลมีมาตรการลดและยกเว้นภาษีสำหรับรถยนต์ EV 
  • การยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้าในหลายรายการ
  • หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งสร้างสถานีชาร์จไฟไว้รองรับการบริการ
  • มีค่ายรถหลายค่ายตกลงทำสัญญาการผลิตในไทย โดยเริ่มในปี 2024 เป็นต้นไป
  • คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมียอดจำหน่ายรถ EV 10,000 คัน และจะขยับขึ้นไปเป็นสองเท่าในเวลาถัดไป (จากปี 2564 มียอดจำหน่ายรถ EV ราว 2,000 คัน)
  • จำนวนยอดจองของผู้บริโภคที่มีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ 

บทสรุปทิศทาง…พร้อมแค่ไหน…ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

ช่วงระยะเวลานี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยทั้งในภาคผู้บริโภค ผู้ผลิต และภาครัฐจะยังเป็นช่วงการเริ่มต้นและกำลังปรับตัวเข้าสู่สังคมรถยนต์ไฟฟ้า และอาจต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ (Learning curve) ร่วมกันในทุกฝ่าย หากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคด้านการผลิต รัฐจะต้องวางกลยุทธ์ให้แม่นยำในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เป็นการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ยังคงต้องรักษาความเป็นหนึ่งในด้านการผลิตยานยนต์แบบเดิมเอาไว้ด้วยเช่นกัน

สามารถรับชมงานเสวนาออนไลน์ MICE OSS Clinic ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “พร้อมไมซ์ พร้อมแค่ไหน…ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย” ได้ที่ https://www.facebook.com/thaimiceoss/videos/599197928547654

ที่มา : งานเสวนาออนไลน์ MICE OSS Clinic ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “พร้อมไมซ์ พร้อมแค่ไหน…ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย” วันอังคารที่ 6 ก.ย. 2565

Was this article helpful?
YesNo