คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเพื่อใช้สำหรับเก็บของหรือพักของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีสิทธิประโยชน์ในด้านการยกเว้นภาษีอากร นับเป็นอีกความสะดวกทางด้านพิธีการศุลกากรที่ผู้จัดงานไมซ์ได้เลือกใช้เพื่อบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์สำหรับการจัดงานต่างๆ ซึ่งในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ (คสท.) จะต้องทำอย่างไรบ้าง มาดูกัน
- คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต
- เป็นรัฐวิสาหกิจ/ส่วนราชการ/บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีทุนจดทะเบียนและฐานะทางการเงินมั่นคง งบการเงินไม่มียอดขาดทุนสะสม และมีคุณสมบัติด้านสถานที่ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ดังนี้
- ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
- ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อื่นๆ ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือในจำนวนที่อธิบดีเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทกิจการ
- มีกรรมสิทธิ์/สิทธิครอบครอง/สิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย หากที่ดินที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง จะต้องมีหนังสือยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งได้
- ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรย้อนหลัง 3 ปี (นับแต่วันที่ยื่นคำขอ) รวมไปถึงการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องรับโทษจำคุก
- ไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตในประเภทที่ได้ยื่นขอ
- ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประเภทที่ได้ยื่นขอ ยกเว้นถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขอเกิน 3 ปี และหากผู้ยื่นคำขอเป็นนิติบุคคล ผู้บริหารจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวด้วย
- เงื่อนไขที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องดำเนินการ
- สถานที่ที่ขอจัดตั้งต้องอยู่ในบริเวณเหมาะสม มีอาคารเก็บของมั่นคงแข็งแรง และต้องจัดให้มีสถานที่จัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการแยกจากสถานที่เก็บและตรวจของ
- ต้องก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้ยื่นประกอบคำขอซึ่งกรมศุลกากรเห็นชอบ โดยมีรั้วล้อมรอบ มีประตูเข้า – ออกมั่นคงแข็งแรง มีห้องทำงานพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสื่อสารเชื่อมโยงกับระบบของศุลกากร เพื่อให้พนักงานศุลกากรใช้ในการกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บน และจัดทำป้ายคลังสินค้าทัณฑ์บนตามแบบที่กำหนด
- มีระบบกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ หรือของที่ผ่านเข้า – ออก และตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน พร้อมจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการ รวมถึงกำกับคลังสินค้าทัณฑ์บนให้มีความรอบคอบรัดกุมตามที่กรมศุลกากรกำหนด
- มีระบบควบคุมสินค้าคงคลังที่ตรวจสอบการนำของเข้าเก็บ การนำของออก และของคงเหลือ โดยจัดทำรายงานทางบัญชีและสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
- ระยะเวลาในการเก็บของที่นำเข้าเก็บหรือนำเข้าสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ จะต้องนำของออกภายใน 60 วัน (นับแต่วันสิ้นสุดการจัดแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ)
- การตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
- ให้จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด ยื่นต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี (ให้ถือวันที่พนักงานศุลกากรเข้าตรวจสอบเป็นวันปิดงวดบัญชี)
- ให้จัดส่งสำเนางบการเงินตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองแล้วต่อส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ภายใน 30 วันนับแต่วันปิดงวดบัญชี (ให้ถือวันที่พนักงานศุลกากรเข้าทำการตรวจสอบเป็นวันปิดงวดบัญชี)
- กำหนดให้ตรวจนับของคงเหลือในคลังสินค้าทัณฑ์บนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และวางหลักทรัพย์ค้ำประกันของธนาคารตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด จำนวน 1,000,000 บาท
- มีค่าธรรมเนียมรายปีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน จำนวน 30,000 บาท
อ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์กรมศุลกากร
Was this article helpful?
YesNo