สำหรับการจัดงานไมซ์ในแต่ละครั้ง อาจต้องมีการนำของจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อใช้จัดงาน ซึ่งจะต้องส่งกลับออกไปทุกครั้งเมื่องานเสร็จสิ้น เรานำเกร็ดสำคัญควรรู้จาก 2 วิธีการด้านศุลกากรที่ถูกใช้บ่อยครั้งในอุตสาหกรรมไมซ์มาให้ทราบกัน
การส่งของกลับออกไปสำหรับการนำเข้าชั่วคราวเพื่อการจัดแสดงสินค้าระหว่างประเทศหรือการแข่งขันในระดับนานาชาติ (International Event) ตามประเภท 3 (ฉ) และ (ญ) ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
- ของที่นำเข้ามาทั้งหมดตามที่ระบุในสัญญาค้ำประกันจะต้องนำกลับออกไปตามวันเวลาที่แจ้งไว้ และห้ามไม่ให้นำของไปใช้ประโยชน์ในกิจการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในสัญญา
- เมื่อสิ้นสุดสัญญาจะต้องส่งของที่นำเข้ามากลับออกไปภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง เว้นแต่กรมศุลกากรจะอนุมัติเป็นประการอื่น
- หากไม่นำของกลับออกไปตามอายุสัญญาประกัน จะถูกบังคับตามสัญญาประกัน
- ในกรณีที่นำของส่วนใดส่วนหนึ่งไปใช้ประโยชน์ในกิจการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญา ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่กรมศุลกากรตามกฎระเบียบเนื่องจากผิดสัญญา ภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากพ้นกำหนดนี้จะต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน (คำนวณตั้งแต่วันนำเข้าจนถึงวันที่นำเงินมาชำระเสร็จ)
- เมื่อส่งกลับออกไปเรียบร้อยแล้ว ต้องขอคืนประกันภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ส่งของกลับออกไป
การส่งของกลับออกไปภายใต้ระบบ A.T.A. Carnet
- ยื่นเอกสารค้ำประกัน A.T.A. CARNET ที่กรอกข้อความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วพร้อมเอกสารประกอบได้ที่สำนักงานหรือด่านศุลกากรที่ส่งออก
- กรมศุลกากรจะตรวจสอบเอกสารและออกเลขที่ยกเว้นอากรหรือเลขที่ชำระอากร (ถ้ามี) แล้วมอบเอกสารทั้งหมดให้ไปทำการชำระอากร (ถ้ามี) หรือติดต่อกับส่วนตรวจสินค้าเพื่อรับสินค้าออกจากอารักขาศุลกากร
- กรณีที่ไม่ส่งของกลับออกไปภายในระยะเวลาที่กำหนด/ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการนำเข้าชั่วคราว ไม่ว่ากรณีใดๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าภาษีอากรและค่าภาระติดพันให้แก่กรมศุลกากรเป็นจำนวนเงินไม่เกินอากรขาเข้ากับอีกร้อยละ 10 ของอากรขาเข้า ส่วนที่เกินจากนี้กรมศุลกากรจะเรียกเก็บจากผู้นำของเข้า
Was this article helpful?
YesNo