Home > News & Tips > Knowledge > ต้องรู้!…การนำเข้างานศิลปะเพื่อจัดนิทรรศการอาร์ต

ต้องรู้!…การนำเข้างานศิลปะเพื่อจัดนิทรรศการอาร์ต

ตุลาคม 6, 2022 | 1999 views

การจัดแสดงงานนิทรรศการด้านศิลปะเป็นอีเวนท์สนุกที่สร้างความสุขให้สังคมและสุนทรียะให้คนจำนวนมาก บางงานจัดขึ้นเพื่อให้เข้าชมได้อย่างเดียว บางงานหากผู้ชมชื่นชอบชิ้นงานก็สามารถซื้อหาเป็นเจ้าของได้ ดังนั้นหากเป็นกรณีที่นำงานศิลปะของศิลปินจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อจัดแสดงเพียงให้ชมและเมื่อจบงานแล้วมีการส่งกลับออกไปก็จะไม่มีเรื่องของ “ภาษีนำเข้า”ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ในกรณีผู้จัดงานหรือผู้ประกอบการต้องการขายชิ้นงานศิลปะนั้นๆ ด้วย จำเป็นจะต้องชำระค่าภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนดอย่างถูกต้อง วันนี้เรานำเกร็ดความรู้ในการนำเข้างานศิลปะในมุมน่ารู้มาฝากกัน

วิธีการนำเข้างานศิลปะมาเพื่อจัดแสดง ใช้รูปแบบการนำเข้าได้กี่วิธี + สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีอะไร อย่างไร 

  • นำเข้ามาจัดแสดงเพียงอย่างเดียว ไม่จำหน่าย ใช้รูปแบบ “พิธีการนำเข้าชั่วคราว เพื่อการจัดแสดงสินค้าระหว่างประเทศหรือการแข่งขันในระดับนานาชาติ (International Events) ตามประเภท 3 (ฉ) และ (ญ) ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530”เป็นวิธีการนำเข้ามาแสดงเป็นการชั่วคราวและมีการส่งกลับออกไป จะได้รับการยกเว้นอากร โดยผู้นำของเข้าต้องวางประกันต่อกรมศุลกากรอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • นำเข้ามาจัดแสดงเพียงอย่างเดียว ไม่จำหน่าย ใช้รูปแบบ “เอกสารค้ำประกัน เอ.ที.เอ คาร์เนท์ (A.T.A. CARNET)” ซึ่งเป็นเอกสารศุลกากรระหว่างประเทศ ที่ใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรต่างๆ และเป็นเอกสารค้ำประกันค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาชั่วคราวโดยได้รับการยกเว้นอากรภายใต้อนุสัญญา เอ.ที.เอ คาร์เนท์ ทั้งนี้ของที่นำเข้ามาในบางรายการมีข้อจำกัดหรือมีข้อกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์เงื่อนไขกำกับไว้ด้วย ซึ่งจะดูรายละเอียดได้จากอนุสัญญาฯ ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สามารถใช้วิธีการนี้ได้จะต้องเป็นสมาชิก A.T.A. CARNET เท่านั้น
  • นำเข้ามาจัดแสดงเพียงอย่างเดียวและจำหน่าย ใช้บริการ “คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse)”ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเพื่อใช้สำหรับเก็บของหรือพักของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีสิทธิประโยชน์ในด้านการยกเว้นภาษีอากร
  • ในกรณีนำเข้าเพื่อจัดแสดงและจำหน่ายด้วย จะต้องมีเรื่องของ “ภาษีนำเข้า” Tax + Duty + Vat เพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการสามารถใช้รูปแบบการนำเข้าโดยวิธีต่างๆ ตามพิธีการศุลกากรปกติ อาทิ ขนส่งทางไปรษณีย์ ทางอากาศ ทางเรือ ทางบก และคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามที่ท่านสะดวก

TIP น่ารู้ในการนำเข้า

  • กรณีส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ของที่นำเข้าแต่ละรายมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
  • ควรตรวจสอบพิกัดศุลกากร หรือ HS CODE (Harmonized System) เพราะการรู้ HS CODE  ที่ถูกต้องจะทำให้ใช้คำนวณค่าภาษี+นำไปขอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรได้
  • ภาษีศุลกากรโดยทั่วไปจะคำนวณจากปัจจัยประเภทผลิตภัณฑ์และการใช้ / ฟังก์ชัน (HS codes)  HS Code คืออะไร ข้อตกลงทางการค้า โควตาการนำเข้าประเทศที่ส่งออก และราคาขนส่ง
  • การใช้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ หรือตัวแทนออกของที่มีประสบการณ์และชำนาญด้านนำเข้างานศิลปะโดยเฉพาะ เป็นทางเลือกที่สะดวกอีกทางในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์การนำเข้างานศิลปะ
  • ต้องตรวจสอบและระมัดระวังการนำเข้างานศิลปะที่เป็นโบราณวัตถุมีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ เพราะจะต้องขอใบอนุญาตนำเข้าจากกรมศิลปากร งานศิลปะที่อยู่ในข่ายโบราณวัตถุคือ พระพุทธรูป เทวรูป รูปเคารพในศาสนา ชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบของโบราณสถาน เงินตราโบราณ-จารึกโบราณ-เอกสารโบราณซึ่งมีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป และเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์           
Was this article helpful?
YesNo